SAFE & SOUND ขอให้เสียงของทุก [เสรี] ภาพ เดินทางโดยสวัสดิภาพ
เสรีภาพคือหนึ่งในสิ่งที่ติดตัวบุคคลมาตั้งแต่เกิด เสรีภาพหมายถึงการมีอิสระ ไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำ ไม่ถูกบังคับ และไม่ถูกขัดขวาง แต่จากสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน เสรีภาพดูจะห่างไกลจากความหมายไปพอสมควร เพราะเมื่อผู้คนใช้เสรีภาพของตนแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ หรือบ่งบอกจุดยืน โดยเฉพาะในทางที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองและระบอบสังคมก็จะถูกอำนาจรัฐกระทำการให้ต้องสยบยอม ขัดขวาง ควบคุม และลิดรอนเสรีภาพไป
SOUND OF ARTISTS
ในเวลานี้ พื้นที่ของการแสดงออกทางความคิดของประชาชนถูกบีบให้คับแคบลง เสียงตะโกนเรียกร้องและเสียงพูดสะท้อนสังคมก็แผ่วเบาลงจนแทบเงียบงัน จะเหลือก็แต่พื้นที่ของงานศิลปะให้ประชาชนได้บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้ชัดเจนโดยไม่ต้องใช้เสียง เพราะศิลปะคือเครื่องมือหนึ่งที่สะท้อนตัวมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ ความงาม ความโสมม ความหวัง หรือความจริง เสียงสะท้อนจากภาพก็คือการแสดงออกซึ่งเสรีภาพ
Safe & Sound Gallery @BBF2021 พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะที่เปิดโอกาสให้ผลงานศิลปะทุกชิ้นสามารถเปล่งเสียง แสดงออกถึงตัวตน ความคิด ความสนใจ ความรู้สึก และแสดงจุดยืน เป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพและสวัสดิภาพของทั้งศิลปินและผู้ชม ผลงานศิลปะกว่า 40 ชิ้น ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่เพื่อการจัดแสดงครั้งนี้โดย 15 ศิลปิน ได้แก่ The Archivist, Benjarat Aiemrat, Butterclub, Jaruwat Normrubporn, Juli Baker and Summer, Mongol Navy, Nakrob Moonmanas, Oat Montien, Pianissimo Press, Pssyppl., rabbithood studio, Suthipa Kamyam, Tik Santi Lawrachawee, Wonderwhale และ YDFD
SAFE TECHNIQUES TO SOUND FREEDOM
ฟังน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของเหล่าศิลปินผ่านเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนเสรีภาพด้านต่างๆ ออกมาอย่างก้องกังวาน ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม (Painting) การพิมพ์ซิลค์สกรีน (Silk-screen printing) การพิมพ์ดิจิทัล (Digital printing) สื่อผสม (Mixed media) ศิลปะตัดแปะ (Collage) และศิลปะเชิงทดลอง (Experimental art) ความหลากหลายเหล่านี้ทำให้พื้นที่แห่งเสรีภาพยิ่งขยายกว้างออกไป
SOUND OF DEMOCRACY
เสียงแห่งประชาธิปไตยที่เตือนว่าเราอยู่ในระบอบการปกครองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน
เสียงแห่งประชาธิปไตยดังก้องออกมาจากผลงานชุด THE VERY IMPORTANT PERSON (V.I.P.) ของ Tik Santi Lawrachawee (สันติ ลอรัชวี) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Practical Design Studio สตูดิโอออกแบบสื่อสารที่มีผลงานและความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของวงการออกแบบ ผลงานชุดนี้นำเสนอความเป็นนามและรูป ที่ยึดโยงกันและกันด้วยการใช้พยัญชนะจากชื่อของบุคคลสำคัญมาใช้เป็นองค์ประกอบหลักในการวาดใบหน้าของทั้ง 12 คนนี้ ด้วยเทคนิคการพิมพ์ Giclee printing* บนกระดาษ Awagami (กระดาษวะฉิ (Washi) แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น)
แม้จะมีสไตล์งานที่เต็มไปด้วยสีสันสดใสแบบวัฒนธรรมป๊อปกึ่งนามธรรมและจินตนาการไร้เดียงสา ทว่า Juli Baker and Summer (จูลี่ เบเกอร์ แอนด์ ซัมเมอร์) ก็ส่งเสียงแห่งประชาธิปไตยออกมาท่ามกลางการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ ศิลปินหญิงคนนี้ตั้งใจเผยแพร่ข้อความเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยจากผลงานที่เธอส่งมาร่วมจัดแสดงชื่อว่า LIFE IS BEAUTIFUL สะท้อนถึงความสวยงามที่ถูกตีกรอบ ถูกห้าม ถูกพราก “...เขาบอกประชาชนจะพูดอะไรก็ได้ แต่พอฉันพูดสิ่งที่ฉัดคิด เขากลับพรากเสรีภาพของฉันไป ฉันจึงต้องแสร้งหลับตา แล้ววาดทุ่งดอกไม้ที่ไม่มีอยู่จริง ชีวิตนี้ช่างงดงาม ทว่าความจริงนั้นบ้านเมืองกำลังลุกเป็นไฟ”
YDFD กลุ่มนักศึกษาที่มีความสนใจในสถานการณ์การเมือง มาร่วมเปล่งเสียงทวงถามหาความเป็นประชาธิปไตยด้วยด้วยผลงานชื่อ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม (SOCIAL INEQUALITY) ความเหลื่อมล้ำนี้คือต้นตอของปัญหามากมายที่สามารถพบได้ในทุกหย่อมหญ้าของประเทศไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ธนบัตร สัญญะของสิ่งที่มีค่าถูกนำมาแปรเปลี่ยนเป็นใบปลิวเพื่อประจานความเน่าเฟะและปัญหาที่หมักหมมของสถาบันต่างๆ ในสังคมที่เชื่อมโยงและเกื้อหนุนกันในระบบอุปถัมภ์ไม่เห็นหัวประชาชน ผลงานพิมพ์ดิจิทัลที่สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคที่ดัดแปลงจากการสานเส้นบนธนบัตร
SOUND OF EQUALITY
เสียงบอกเล่าถึงความแตกต่างซึ่งสมควรได้รับการยอมรับและปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
หนึ่งในศิลปินไทยที่ส่งเสียงและสื่อสารผ่านผลงานของตนเสมอ คือหนอนหนังสือเควียร์ผู้เติบโตในดักแด้ของห้องสมุดจนผลิบานเป็นผีเสื้อ และศิลปินผู้ตกหลุมรักหนังสือ Oat Montien (โอ๊ต มณเฑียร) ผลงานของเขา ไม่ว่าจะเป็นงานวาดและงานเขียนหนังสือมักนำเสนอเรือนร่างอันสมบูรณ์แบบของบุรุษเพศและความงาม ครั้งนี้เขาส่งผลงานจิตรกรรมจากสีพาสเทล ชื่อว่า YOU ARE WHAT YOU READ พร้อมคำบรรยายผลงานจากนักเขียน กวี และนักเขียนบทละครชาวไอริช อย่าง ออสการ์ ไวล์ด ว่า “It is what you read when you don't have to that determines what you will be when you can't help it.”
Butterclub (บัตเตอร์คลับ) ศิลปินและนักวาดภาพประกอบอิสระที่มีผลงานสีสันลูกกวาดสุดสดใสเป็นที่คุ้นตาและได้รับความนิยมอย่างมากในโลกออนไลน์ ส่งผลงานที่ผสมผสานเทคนิคการใช้สีต่างๆ ทั้ง สีน้ำ สีอะคริลิค สีชอล์ค และดินสอสี ชื่อว่า ร้านหนังสือ (BOOKSTORE) บอกเล่าถึงสถานที่ที่มีความงดงามในแบบฉบับของตัวเอง ดั่งสวนดอกไม้ที่ดอกไม้แต่ละดอกไม่เหมือนกัน และทุกดอกก็ล้วนงดงามในแบบฉบับของตัวเอง หนังสือแต่ละเล่มก็เช่นเดียวกัน
SOUND OF LIBERATION
เสียงที่เปี่ยมไปด้วยความอัดอั้น ปรารถนาการปลดปล่อยจากแบบแผนที่ครอบงำไว้ ไม่ว่าจะตัวตน สังคม แม้กระทั่งแบบแผนของการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ
เสียงแห่งการปลดปล่อยสะท้อนดังออกมาจากผลงานของ Mongol Navy (มองโกล เนวี) กราฟิกดีไซน์เนอร์ นักวาดภาพประกอบที่มีสไตล์งานเน้นความนิ่ง เงียบ ทว่าทรงพลัง สร้างสรรค์ผลงานด้วยสีอะคริลิคบนผ้าใบในชื่อ INEVITABLE เพื่อสื่อสารว่า “ไม่ว่าดอกไม้จะถูกย่ำยีเพียงใด มันก็จะเบ่งบาน ไม่อาจหยุดรั้งอนาคต”
ถ่ายทอดจากความรู้สึกเศร้า หดหู่ และอึดอัดกับสถานการณ์ เมื่อคนมากมายอยู่ในความทุกข์ยาก ถูกกักขัง กดทับโดยความอยุติธรรม ติดอยู่ในสังคมบิดเบี้ยวทั้งควรเป็นช่วงเวลาเสรีที่ชีวิตออกโบยบิน กับ UNTITLED ภาพวาดโดยดินสอบนแผ่นกระดาษ โดย Suthipa Kamyam (สุทธิภา คำแย้ม) ศิลปิน นักวาดประกอบ ผู้เล่าเรื่องจากความสนใจในธรรมชาติ ตำนานของผู้คนและดินแดนห่างไกลผ่านลายเส้นละเอียด
Jaruwat Normrubporn (จารุวัฒน์ น้อมรับพร) ศิลปินเจ้าของฝีแปรงสีสันฉูดฉาด ส่งงานเทคนิคสีน้ำมันที่บอกเล่าตัวตน ความคิด ความรู้สึก ผ่านหนังสือหนังสือ 4 เล่มเป็นผลงาน 3 ชิ้น คือ GIOVANNI’S ROOM AND THE UNBEARABLE LIGHTNESS OF BEING ใช้ชื่อเดียวกับงานเขียนของ เจมส์ บอลด์วิน นักเขียนชาวอเมริกันผู้เรียกร้องการยอมรับความเท่าเทียมทางเพศและความหลากหลายทางชาติพันธุ์ผ่านผลงานและความเคลื่อนไหวในสังคมเสมอ อีกเล่มคือผลงานของนักเขียนชาวเช็ก มิลาน คุนเดอรา เรื่องราวความสัมพันธ์ของคู่ชายหญิงที่ซับซ้อน ในยุคสมัยที่ประชาชนเชโกสโลวะเกียต้องลี้ภัยออกจากบ้านเกิดเพราะถูกต่างชาติแทรกแซงการเมืองของประเทศ, THE CATCHER IN THE RYE จากชื่อนวนิยายของ เจ.ดี. ซาลินเจอร์ สะท้อนภาพสังคมอเมริกันในยุคสมัยที่ผู้คนอยู่ด้วยจิตวิญญาณที่กลวงเปล่า ซึ่งนำไปสู่ชีวิตที่พร้อมจะร่วงหล่นแล้วแตกสลาย และ มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ ชื่อเดียวกับหนังสือหนา 800 หน้า บันทึกประสบการณ์ในคุก 2 ปี 16 วัน ของภรณ์ทิพย์ มั่นคง อดีตนักโทษคดี 112
Pianissimo Press (เพียนิสซิโม่ เพรส) สตูดิโอขึ้นชื่อเรื่องภาพพิมพ์ Letterpress (การพิมพ์แบบตัวเรียง) ส่งเสียงเพลงสแตนดาร์ดแจ๊ส I Wish You Love มาเป็นภาพผลงานชื่อเดียวกับเพลง คือ I WISH YOU LOVE ฉายภาพฤดูกาลตามบทเพลงแต่ละท่อน สร้างงานภาพพิมพ์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวและบรรยากาศจากเนื้อเพลง หากเพลงกลายเป็นหนังสือ Pianissimo Press ก็ปรารถนาให้พิมพ์ภาพเหล่านี้เคียงคู่กับถ้อยคำที่งดงามของบทกวีนั้น
Benjarat Aiemrat (เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์) นักออกแบบอิสระและอาจารย์พิเศษในสาขาวิชาการออกแบบ ผู้ชื่นชอบการเรียนรู้และลงมือทำเพื่อให้เข้าใจการเรียนรู้นั้นได้อย่างลึกซึ้ง สร้างสรรค์ผลงานชื่อ PREDICTABLY UNPREDICTABLE ผลงานที่มีความคิดว่าคนเราคาดการณ์ผลลัพธ์เบื้องต้นของการสำรวจเทคนิคและวิธีได้ด้วยการกำหนดตัวแปร ซึ่งมักจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มากมาย และบางครั้งก็สามารถเลือกหยิบจับไปพัฒนาต่อได้ งานชิ้นนี้ใช้เทคนิคผสมน่าตื่นตาจากหมึกมาร์คเกอร์, โครมาโทกราฟีแบบกระดาษ (Chromatography paper), เอทิลแอลกอฮอล์ และกระจกพิมพ์ลาย
rabbithood studio (แร็บบิตฮู้ด สตูดิโอ) สตูดิโอออกแบบด้านเซอร์วิสดีไซน์ที่สนใจการค้นหาความเป็นไปได้ที่หลากหลายในการทำงานออกแบบผ่านกระบวนการลองผิดลองถูกไม่รู้จบ เลือกสร้างผลงานภาพตัดแปะ ในชื่อ TOGETHER APART เนื่องจากสถานการณ์ Work from Home ที่สมาชิกสตูดิโอแทบไม่ได้เจอหน้ากัน จึงตั้งใจสร้างผลงานโดยนัดแนะให้สมาชิกแต่ละคนตัด/ผลิตชิ้นส่วนมาจากบ้านแล้วเอามาประกอบรวมกันที่สตูดิโอโดยที่ไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร กลายเป็นผลงานที่สร้างความเป็นไปได้รูปแบบใหม่ขึ้นมา
อีกหนึ่งศิลปินที่มีชื่อด้านงานภาพตัดแปะอย่าง Nakrob Moonmanas (นักรบ มูลมานัส) ศิลปินและนักวาดภาพประกอบจากแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และความทรงจำ สร้างสรรค์เป็นผลงานชื่อว่า POEM004 โดยการเลือกสรรถ้อยคำมาจากกวีนิพนธ์ต่างที่มา ต่างกาลเวลา นำมาปะติดปะต่อใหม่เป็นงานเขียน/งานศิลปะเชิงทดลอง สอดประสานในความขัดแย้งของภาษาเขียนและภาษาภาพ
The Archivist (ดิ อาร์ไควิสทฺ) สตูดิโอภาพพิมพ์เทคนิคซิลค์สกรีน (Silk-screen printing) ที่เน้นสร้างสรรค์งานพิมพ์เชิงทดลอง ส่งผลงานชื่อ THE HALF CHART โปสเตอร์ Duotone (2 สี) ที่สตูดิโอตั้งใจถ่ายทอดและแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการทำสตูดิโอซิลค์สกรีนมากว่า 8 ปี ส่งต่อแบบแผนการสร้างสรรค์ผลงานพิมพ์สู่สาธารณะ โดยเปิดกว้างให้พริ้นท์สตูดิโอหรือผู้สนใจสามารถติดต่อขอไฟล์ทดสอบการพิมพ์ไปทดลองพิมพ์ได้ เป็นการท้าทายความฝีมือของช่างพิมพ์ที่ได้รับไฟล์ไปเพราะต้องใช้ทักษะการพิมพ์ที่ประณีตชำนาญ และต้องใช้แม่พิมพ์เดิมมาพิมพ์ซ้ำบนกระดาษแผ่นเดิมที่หมุน 180 องศาให้อยู่ในตำแหน่งที่แม่นยำจึงจะทำให้โปสเตอร์นี้ออกมาเป็นชาร์ททดสอบการพิมพ์ที่สมบูรณ์
ผลงานไอคอนกราฟิกโดย Wonderwhale (วันเดอร์เวล) กราฟิกดีไซน์สตูดิโอขนาดกะทัดรัดจากเชียงใหม่ที่มีความสนใจในการทำงานออกแบบการสื่อสาร สร้างผลงานที่สร้างสรรค์และแฝงความสนุก ชื่อว่า หนังสือไร้ชื่อ (BOOKS WITHOUT TITLES) นำชื่อหนังสือแปลงเป็นภาพไอคอน เชิญชวนให้ทายชื่อหนังสือหรือจะอ่านทั้งหมดเป็นเรื่องสั้นก็ได้
Pssyppl. ศิลปินนักออกแบบที่สร้างผลงานคู่ขนานไปกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศช่วงปีที่ผ่านมานี้ ผู้พยายามทำลายการกดขี่โดยกฎเกณฑ์และวัฒนธรรมที่ไร้เหตุผลของสังคม ส่งผลงานพิมพ์ดิจิทัลในชื่อ POWER OF A PAPER เพื่อบอกเล่าถึงสังคมว่า “ความรู้จะกลายเป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ก็ต่อเมื่ออยู่ในมือของคนที่ใช้มันเป็นเท่านั้น”
Safe & Sound Gallery @BBF2021 หนึ่งในกิจกรรมของเทศกาลหนังสือกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 (Bangkok Book Festival 2021) พื้นที่ศิลปะที่จะนำพาทุกเสียงของทุก [เสรี] ภาพ เดินทางไปถึงดวงตาและดวงใจของทุกคนโดยสวัสดิภาพนิทรรศการจัดแสดงที่เดอะ แจม แฟคทอรี แกลเลอรี (The Jam Factory Gallery) ย่านคลองสาน ระหว่างวันที่ 6 - 22 ธันวาคม 2564 เปิดให้เข้าชมทุกวัน 11:00 - 20:00 น.
[ดูรายละเอียด Safe & Sound Gallery @BBF2021 →]
▪︎
* Giclee printing การพิมพ์ด้วยระบบพิมพ์คุณภาพสูง ให้สีที่ลึกล้ำ เนื้อสีอิ่ม เก็บรายละเอียดดีเยี่ยม คงทน ไม่ซีดจาง เปรียบได้กับงานศิลปะที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์