THE TRANSLATOR, CONNECTING THE WORLD

เปิดเผยแง่มุมการทำงานด้าน 'การแปลวรรณกรรมภาษาต่างประเทศ' โดยนักแปลผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีผลงานเป็นที่ยอมรับในวงการหนังสือไทย 9 ท่าน คือ สุนันทา วรรณสินธ์ เบล, พลอยแสง เอกญาติ, รองศาสตราจารย์ ดร.ภาสุรี ลือสกุล, กอบชลี, ตรองสิริ ทองคำใส, รองศาสตราจารย์ ดร.วริตตา ศรีรัตนา, ธนรรถวร จตุรงควาณิช, อรรถ บุนนาค และศาสตราจารย์กิตติคุณ ถนอมนวล โอเจริญ

วันที่ 30 กันยายนของทุกปี คือ วันการแปลสากล หรือ International Translation Day ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองและรำลึกถึงนักบุญเจอโรม (St. Jerome) ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลจากภาษากรีกและภาษาฮีบรูเป็นภาษาละติน กำหนดโดยสหพันธ์นักแปลนานาชาติ หรือ FIT (The Fédération Internationale des Traducteurs) เพื่อเป็นการให้เกียรติและให้ความสำคัญกับผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา นักแปลมืออาชีพและล่าม ซึ่งมีบทบาทเป็นสื่อกลางการสื่อสารที่ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจ การพัฒนา และสันติภาพระหว่างประเทศต่างๆ

 
 
AW-The_translator_Indian-English.jpg
 

การแปลวรรณกรรมภาษาอังกฤษของนักเขียนเชื้อสายอินเดีย ‘ซัลมาน รัชดี’

เมื่อพูดถึงนักเขียนชาวอินเดีย หนึ่งในผู้ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลกก็คือ ซัลมาน รัชดี (Salman Rushdie) นักเขียนอังกฤษเชื้อสายอินเดีย เกิดและเติบโตในครอบครัวมุสลิมที่เมืองบอมเบย์ ก่อนจะย้ายไปเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาจนสำเร็จการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ในปี 1968 ผลงานเล่มที่ 2 คือ Midnight’s Children คว้ารางวัล The Booker Prize ปี 1981 ทว่าชื่อของเขาโด่งดังเป็นข่าวไปทั่วโลกจาก The Satanic Verses ผลงานเล่มที่ 4 ในปี 1988 ที่มีเนื้อหาพาดพิงการตีความตัวตนของ ‘นบีมุฮัมมัด’ เกิดการประท้วงหมู่ชาวมุสลิม อดีตผู้นำสูงสุดของอิหร่านประกาศว่ารัชดีเป็นมารศาสนา และให้ชาวมุสลิมสังหารชีวิตเขาได้โดยไม่มีความผิด หรือที่รู้จักในชื่อ ฟัตวา ทำให้รัชดีต้องใช้ชีวิตหลบซ่อนตัวเป็นเวลานับสิบปี


ผลงานของรัชดีที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ได้แก่ Midnight’s Children หรือฉบับภาษาไทยชื่อ ทารกเที่ยงคืน แปลโดย นพดล เวชสวัสดิ์ (2010) Haroun and the Sea of Stories ฉบับภาษาไทยชื่อ ฮารูนกับมหานทีแห่งนิทาน แปลโดย จรรย์สมร รัตนชาตะ (2010) Two Years Eight Months & Twenty-eight Nights หรือ สองปี แปดเดือน กับยี่สิบแปดคืน (2018) The Golden House หรือ บ้านโกลเดน (2019) และล่าสุดปี 2020 กับ Midnight’s Children ที่ได้รับการแปลและจัดพิมพ์ใหม่ ซึ่ง 3 เล่มหลังนี้ ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยโดย สุนันทา วรรณสินธ์ เบล

 

คุณสุนันทา ผู้แปลผลงานของรัชดี 3 เล่ม กล่าวว่าการทำงานแปลวรรณกรรมที่มีพื้นเพหรือรายละเอียดด้านวัฒนธรรมอันหลากหลายและซับซ้อน ผู้แปลต้องตระหนักถึงบริบทของวัฒนธรรมต้นทางและการตีความในบทแปลและวัฒนธรรมปลายทางอย่างมาก อย่างงานของรัชดีที่มีต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ ผู้อ่านจะได้อ่านอินเดียผ่านกรอบของอังกฤษ แม้ว่าผู้เขียนจะเกิดที่อินเดียแต่ภาษาก็เป็นกรอบกำหนดการถ่ายทอดด้วย ยกตัวอย่างจากเรื่อง Midnight’s Children ตัวละครเอกอยู่ในโรงงานทำ Pickle และนำอาหารชนิดนี้มาเป็นอุปไมยของการเล่าเรื่อง การจะเรียก Pickle ว่า ‘ผักดอง’ หรือ ‘ของดอง’ อาจสื่อความหมายได้ไม่ตรงนักเพราะคนไทยจะนึกถึงภาพหัวผักกาดดองหรือผลไม้ดองรสเปรี้ยว แต่ Pickle ของอินเดียเป็นเครื่องจิ้มและ/หรือเครื่องเคียงมากกว่า จัดว่าเป็นซอส ในฉบับแปลจึงใช้คำว่า ‘อาจา’ จากภาษาฮินดีซึ่งไทยรับและปรับเปลี่ยนคำนี้เป็น ‘อาจาด’ ซึ่งใช้เรียกเครื่องเคียงที่ทำจากแตงกวาใส่น้ำส้มสายชูรสเปรี้ยวอมหวานเสิร์ฟคู่กับสะเต๊ะ ผู้แปลจึงมีความคาดหวังว่าผู้อ่านพอรู้จักอาจาอยู่บ้าง

 

รูปแบบการเขียนอันโดดเด่นของรัชดีที่ทราบกันดี เช่น สัจนิยมมหัศจรรย์ การข้ามกำแพงวัฒนธรรมโลกตะวันออกกับตะวันตก การปะทะของความเชื่อหรือการเมือง เป็นต้น แต่ในมุมมองส่วนตัวของผู้แปลนั้น รูปแบบการเขียนอื่นที่เธอสนใจคือการจับแพะชนแกะด้านภาษา หรือที่เรียกว่า Juxtaposition เป็นการนำคำสองคำหรือความคิดที่ไม่น่าจะไปด้วยกันได้มาวางคู่กัน นอกจากได้ความแปลก สะดุดตา คนอ่านต้องตั้งคำถามว่าทำไมนักเขียนจึงเลือกใช้คำนี้หรือสองคำนี้เกี่ยวเนื่องกันอย่างไร ยังเป็นการขยายขอบเขตของคำหรือความคิด สร้างความเข้าใจหรือข้อสงสัยแบบใหม่ทั้งระดับคำและมุมมองโลก และอีกรูปแบบที่ผู้แปลสนใจคือลักษณะการเล่าเรื่องผ่านกรอบความคิดของ Narratology ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์แบบต่างๆ ระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับการถ่ายทอดเรื่องราว เช่น การจัดเรียงลำดับเวลาและการถ่ายทอดมุมมองของตัวละครหรือผู้เล่า ดังนั้นสำหรับคุณสุนันทา นี่คือจุดเริ่มต้นในการอ่านงานของรัชดี เล่มหลักก็คือ Midnight’s Children ที่ในเรื่องมีตัวละครมากมาย แล้วตัวละครแต่ละตัวยังมีเรื่องราวของตัวเอง มีรายละเอียดเชิงลึก ผู้เล่าเรื่องเชื่อถือไม่ได้ เล่ากระโดดไปมา ปูพื้นอ้อมค้อม เล่าเหตุการณ์สลับกัน บางเรื่องผู้เล่ายังย้อนกลับมาบอกว่าจำรายละเอียดผิด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เล่าเป็นโมฆะ อย่างเช่นตอนที่ผู้เล่ายอมรับว่าตนจำวันเวลาที่มหาตมะคานธีถูกสังหารผิด นั่นไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เกิดขึ้นเพราะคานธียังคงเสียชีวิตผิดเวลาอยู่ดี

 

รูปแบบนำเสนอ สองปี แปดเดือน กับยี่สิบแปดคืน อิงขนบสัจนิยมมหัศจรรย์และเล่าเรื่องแบบ พันหนึ่งราตรี ซึ่งเป็นต้นแบบงานเขียนหลายชิ้นของรัชดี ส่วน บ้านโกลเดน ใช้การนำเสนอแบบภาพยนตร์ เล่าเรื่องผ่านมุมมองของกล้องถ่ายภาพยนตร์และบางตอนเขียนเหมือนบทภาพยนตร์ ความเหมือนกันของทั้ง 2 เล่มคือ การวิจารณ์การเมืองและการอ้างอิงหรือพาดพิงถึงวัฒนธรรมหลากหลาย เป็นสากล วัฒนธรรมตะวันออกผนวกกับตะวันตก ซึ่งลักษณะเหล่านี้ปรากฏในงานของรัชดีทุกเล่ม

วรรณกรรมที่ดีต้องท้าทายขนบหรือผลักดันให้ผู้อ่านตั้งคำถามและทบทวนสิ่งที่เป็นอยู่
— สุนันทา วรรณสินธ์ เบล

 คำแนะนำจากคุณสุนันทาสำหรับผู้ที่สนใจการแปลหรืออยากเป็นนักแปลอาชีพ คือ “การแปลเป็นเรื่องของกระบวนการคิดและตัดสินใจ ดังนั้นนักแปลต้องตระหนักรู้ในหลายด้านและหลายระดับ มีความรู้ด้านภาษา วัฒนธรรม ความรู้พื้นฐานในบริบทของสาร วัฒนธรรมการอ่านและการตีความ ต้องอธิบายได้ถึงกระบวนการตัดสินใจของตัวเองแม้ว่าคนอื่นอาจเห็นต่าง ซึ่งเป็นเสน่ห์ของการแปล เพราะถ้าทุกคนเห็นพ้องต้องกันหรือการสื่อสารผ่านการแปลมีคำตอบที่ตายตัว ทุกคนก็จะผลิตงานออกมาเหมือนๆ กัน”

ทั้งนี้นักแปลยังฝากกำลังใจถึงนักอ่านว่า “วรรณกรรมที่ดีต้องท้าทายขนบหรือผลักดันให้ผู้อ่านตั้งคำถามและทบทวนสิ่งที่เป็นอยู่ คนที่อ่านวรรณกรรมไม่ว่าในภาษาต้นฉบับหรือฉบับแปลก็น่าจะเจอสิ่งที่ไม่เข้าใจ งงหรือสับสน ซึ่งนั่นคือภาวะที่ควรเป็น ทำให้ได้ทบทวนสิ่งที่อ่านและมุมมองของตน บางเล่มก็จงใจเล่นกับคนอ่าน หรือบางเล่มจะเรียกว่าฆ่าคนอ่านก็ได้ ทำให้ผู้อ่านต้องทำงานหนักในการค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มหรือเรียบเรียงความคิดเพื่อทำความเข้าใจ ให้เราขบคิดและทำให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างความหมาย”

สุนันทา วรรณสินธ์ เบล สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาภาษาอังกฤษสมัยใหม่ จากมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม ประเทศอังกฤษ เน้นด้านวัจนลีลาศาสตร์ (Stylistics หรือ Literary linguistics) และภาษาศาสตร์ปริชาน (Cognitive linguistics) ปัจจุบันเป็นนักแปลและบรรณาธิการอิสระ มีประสบการณ์การทำงานกับหลายสำนักพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นการแปลงานเขียนสารคดี (Non-fiction) บันเทิงคดี (Fiction) และบรรณาธิการต้นฉบับวรรณกรรมต่างประเทศ


 
BBF2021_Article-Translator_English.jpg
 

การแปลวรรณกรรมภาษาอังกฤษ
ประเภทงานเขียนสารคดี (Non-fiction)

ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่มีผู้พูดมากที่สุดในโลกคือ 1,132 ล้านคน รองลงมาคือภาษาจีน(แมนดาริน) 1,117 ล้านคน และภาษาฮินดี 615 ล้านคน¹ โดยเป็นหนึ่งในภาษากลางสำหรับสื่อสารระหว่างประเทศที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติมี 7 ภาษา คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เยอรมัน รัสเซีย อารบิก และจีน

แม้ว่าคนนับพันล้านจะทำการศึกษาและฝึกทักษะพื้นฐานทางภาษาอังกฤษจนสามารถเข้าใจและใช้สื่อสารได้ แต่การแปลเพื่อความเข้าใจส่วนบุคคลกับการแปลแล้วถ่ายทอดเป็นภาษาอื่นเพื่อสื่อสารสู่สาธารณะ ผู้แปลต้องมีความเชี่ยวชาญทั้งสองภาษา มีความรู้ ความเข้าใจบริบทและมีเทคนิคการเรียงร้อยเนื้อความอย่างถูกต้อง ได้ใจความ และลื่นไหลตามสาระหรือบรรยากาศของเนื้อหา ยิ่งเป็นภาษาที่มีคนใช้อย่างแพร่หลายด้วยแล้วผู้แปลยิ่งต้องระมัดระวังอย่างที่สุด

 

การแปลงานเขียนสารคดี หรือ Non-fiction ต้องอาศัยการค้นคว้าและความรับผิดชอบต่อทั้งผู้เขียนและผู้อ่านเพราะเป็นงานที่บอกเล่าความจริงหรือความคิดเห็นจากมุมมองของผู้เขียน เป็นงานที่เน้นให้ความรู้จึงควรให้ความสำคัญกับข้อมูลอย่างมาก นักแปลต้องหาวิธีสื่อสารให้เหมาะสมกับบริบทและกลุ่มผู้อ่านเป้าหมาย เช่น การแปลสารคดีให้เด็กอ่านต้องใช้ภาษาและการเล่าเรื่องที่แตกต่างจากสารคดีสำหรับผู้ใหญ่ แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ ข้อมูลต้องถูกต้องและถ่ายทอดได้ตรงตามเจตนารมณ์ของผู้เขียน

ต้องใส่ใจต่อความตั้งใจของผู้เขียนและเลือกใช้ภาษาให้เหมาะกับกลุ่มผู้อ่าน
— พลอยแสง เอกญาติ

สำหรับนักแปลงานเขียนสารคดีภาษาอังกฤษสู่ภาษาไทยที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง คือ พลอยแสง เอกญาติ นักแปลอาชีพผู้มีผลงานตีพิมพ์แล้วไม่ต่ำกว่า 100 เรื่อง หนังสือ Non-fiction แปลโดยคุณพลอยแสงที่น่าสนใจในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ผู้อ่านอาจคุ้นชื่อหรือเป็นเจ้าของหนังสือไปแล้ว เช่น ประวัติศาสตร์กระดาษโลก (Paper : An Elegy) ของ เอียน แซนซัน (Ian Sansom), ตำนานอาหารโลก: เบื้องหลังจานโปรดโดนใจคนทั่วโลก (What Caesar Did for My Salad: The Secret Meanings of our Favourite Dishes) ของ อัลเบิร์ต แจ็ก (Albert Jack), ประวัติศาสตร์หยาดฝน (RAIN A Natural and Cultural History) ของ ซินเธีย บาร์เนตต์ (Cynthia Barnett) และ โลกที่รัก (Dear World) ของ บานา อัลอาเบด (Bana Alabed) เป็นต้น

การแปลงานเขียนสารคดีต่างจากงานบันเทิงคดี (Fiction) ตรงที่การแปลบันเทิงคดีจะเน้นการเล่าเรื่องในโลกของจินตนาการมากกว่า เน้นอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า อาจไม่ต้องค้นคว้าข้อมูลมากเท่า แต่ก็ต้องใส่ใจต่อความตั้งใจของผู้เขียนและเลือกใช้ภาษาให้เหมาะกับกลุ่มผู้อ่านเช่นกัน จากประสบการณ์แปลงานภาษาอังกฤษของคุณพลอยแสง ความแตกต่างของ Non-fiction ระหว่างภาษาอังกฤษแบบบริติช (British) กับภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน (American) คือ หัวข้อที่ผู้เขียนเลือกเขียนหรือถ่ายทอด หัวข้องานเขียนฝั่งบริติชค่อนข้างเป็นเรื่องจริงจังและเน้นประวัติศาสตร์มากกว่า ในขณะที่ฝั่งอเมริกันจะมีสีสันและทันใหม่กว่า

“เรื่องการถ่ายทอด พลอยมักรู้สึกว่าฝั่งบริติชใช้ประโยคที่ซับซ้อนและต้องตีความมากกว่า ในขณะที่อเมริกันจะตรงไปตรงมา พร้อมตัวอย่างที่ชัดเจนกว่า ฝั่งบริติชยังมีจุดเด่นที่มุกตลกแบบชาวอังกฤษ ซึ่งบางครั้งแปลยากมากเพราะมันไม่ค่อยตลกในความรู้สึกของผู้อ่านชาวเอเชีย ถ้าเทียบก็คงเป็นตลกหน้าตายที่ทำให้ขำแค่ ‘หึๆ’ และต้องคิดก่อนขำ ในขณะที่ฝั่งอเมริกันอาจจะหัวเราะแบบมีเสียงเอิ๊กอ๊ากได้เลย เป็นเสน่ห์ของภาษาอังกฤษไม่ว่าจะบริติชหรืออเมริกันที่ท้าทายการแปลกันไปคนละแบบ”

 

พลอยแสง เอกญาติ จบการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านการแปลและการล่าม คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างที่เรียนนั้นก็เริ่มทำงานแปลไปด้วย ต่อมามีผลงานแปลกับอีกหลากหลายสำนักพิมพ์ทั้งงานเขียนสารคดีและบันเทิงคดี เรื่อยมายาวนานสิบกว่าปี หนังสือแปลเล่มแรกในชีวิตของเธอ คือ สงครามโลกครั้งที่สองสยองขวัญ ในชุดประวัติศาสตร์โหด มัน ฮา แปลจาก The Woeful Second World War ในชุด Horrible Histories ของ เทอร์รีย์ เดียรีย์ (Terry Deary) เป็นหนังสือแนวสารคดีสำหรับเด็กเพื่อเล่าประวัติศาสตร์ที่อ่านสนุกและเข้าใจง่าย หนังสือหรือนักเขียนโปรดของเธอคือ Kitchen Confidential: Adventures in the Culinary Underbelly² ของ แอนโธนี โบร์เดน (Anthony Bourdain) พ่อครัว นักเขียน นักเดินทาง และพิธีกรรายการท่องเที่ยวพาชิมอาหารผู้โด่งดังชาวอเมริกัน ซึ่งโบร์เดนก็เป็นหนึ่งในนักเขียนคนโปรดของเธอด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมี Michael Pollan³ และ Ruth Reichl⁴ ซึ่งล้วนเป็นชาวอเมริกัน ส่วนคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจทำงานด้านการแปลวรรณกรรมภาษาอังกฤษ คุณพลอยแสงฝากไว้ว่า

“ต้องเริ่มที่การอ่านหนังสือให้มากเพื่อสะสมประสบการณ์ รวมถึงนิตยสาร บทความวิชาการ ข่าว เว็บไซต์ยอดนิยม เนื้อเพลง มุกตลก ฯลฯ และหมั่นเติมความรู้ด้านภาษาทั้งภาษาต้นทางและปลายทาง เช่น การเรียงประโยค การใช้คำกับบริบท คำศัพท์ สำนวน คำสแลง (Slang) ตามยุคสมัย เพื่อให้สามารถถ่ายทอดสิ่งที่นักเขียนต้องการสื่อได้ถูกต้องและไม่ทำให้ผู้อ่านผิดหวัง"

▪︎


เชิงอรรถ
1 ผลสำรวจโดย Ethnologue by SIL International ปี 2020
2 ฉบับภาษาไทยชื่อ เบื้องลึกในครัวลับ แปลโดย นรา สุภัคโรจน์
3 ไมเคิล พอลแลน นักเขียนชาวอเมริกัน นักข่าว นักเคลื่อนไหว และศาสตราจารย์ด้านวารสารศาสตร์ เป็นที่รู้จักจากหนังสือสำรวจผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรมของอาหาร ผู้เขียน In Defense of Food และ The Omnivore’s Dilemma
4 รูธ เรชเชล ผู้เขียน Comfort Me with Apples และ Garlic and Sapphires ชาวอเมริกันผู้เป็นทั้งเชฟ นักเขียนเรื่องอาหาร ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์และพิธีกรรายการโทรทัศน์ บรรณาธิการ และหัวหน้าบรรณาธิการนิตยสารด้านอาหาร


 
AW-Translator_Latin_American.jpg
 

การแปลวรรณกรรมภูมิภาคลาตินอเมริกา

พูดถึงลาตินอเมริกาแล้วนึกถึงอะไร
คนส่วนใหญ่มักจะเห็นภาพของสีสันอันจัดจ้านของวัฒนธรรม ความร้อนแรง ความครื้นเครง ความลึกลับ เรื่องเล่าเกี่ยวกับธรรมชาติ พิธีกรรมหรือประเพณีที่มีการสวดและร้องรำพร้อมจังหวะดนตรี ฯลฯ ซึ่งวิถีชีวิตของผู้คนในภูมิภาคนี้ก็มักปรากฏอยู่ในวรรณกรรมอย่างสร้างสรรค์และชวนตื่นตา

ลาตินอเมริกา ครอบคลุมพื้นที่ประเทศเม็กซิโก กลุ่มประเทศในทวีปอเมริกากลาง แคริบเบียนและอเมริกาใต้ และพูดภาษากลุ่มโรมานซ์เป็นหลัก เช่น อาร์เจนตินา โบลิเวีย บราซิล ชิลี โคลอมเบีย คอสตาริกา คิวบา สาธารณรัฐโดมินิกัน เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา เฮติ ฮอนดูรัส เม็กซิโก นิการากัว ปานามา ปารากวัย เปรู อุรุกวัย เวเนซุเอลา เป็นต้น ในอดีต ลาตินอเมริกาเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรชนพื้นเมืองอย่างอินคา มายา และแอซเท็ค อีกทั้งยังเคยตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิสเปนและโปรตุเกสอยู่หลายศตวรรษ วิถีชีวิตของกลุ่มคนในแถบนี้จึงเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมชนพื้นเมือง ยุโรปใต้ และแอฟริกา ดังนั้นเสน่ห์ของวรรณกรรมลาตินอเมริกาก็คือความหลากหลาย ทั้งทางภูมิศาสตร์ ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และผู้คน อันเป็นสาเหตุนำไปสู่ความหลายหลากทางวัฒนธรรม สังคม ความคิด ความเชื่อและประเด็นอื่นๆ มากมาย

 

ในลาตินอเมริกาคำว่า Mestizaje หรือ การผสมผสาน เป็น Keyword ที่สำคัญมาก ในงานเขียนหนึ่งเล่มอาจจะพบแนวการเขียนจากอิทธิพลของยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา พบวัฒนธรรมที่หลากหลาย พบวิธีการเล่าเรื่องที่สะท้อนความเชื่อคติชนของคนท้องถิ่น พบตัวละครชนพื้นเมือง พบทาสอยู่ร่วมกับคนเชื้อสายยุโรป พบฉากทุ่งหญ้าปัมปัส ป่าอะเมซอน ทะเลทราย ไปจนถึงเกาะ หรือมหาสมุทร

แนวการเขียนที่ประสบความสำเร็จที่สุดของวรรณกรรมลาตินอเมริกาก็คือ สัจนิยมมหัศจรรย์ หรือ Magic realism ที่ผสมผสานแนวความคิดระหว่าง สัจนิยม (Realism) กับ ความมหัศจรรย์ (Magic) ก่อให้เกิดเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ที่ดําเนินอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ขณะที่ชาวยุโรปมองโลกในแบบที่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล แต่ผู้คนในลาตินอเมริกาอาจจะมีทัศนคติในการมองโลกที่แตกต่างออกไป เนื่องจากมีภูมิหลังและสภาพสังคมที่ต่างกัน ฉะนั้นการจะนำเสนอความจริงในสังคมลาตินอเมริกาต้องใช้สิ่งมหัศจรรย์หรือสิ่งที่เหนือจริง เข้ามาช่วยเล่าและสะท้อนเสน่ห์ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม รูปแบบของวรรณกรรมจึงมีเนื้อหาอิงประวัติศาสตร์ยุคสำคัญโดยเล่าผ่านมุมมองความเชื่อเหนือจริงในแต่ละท้องถิ่น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องผี วิญญาณ เทพเจ้า ไสยศาสตร์ ไปจนถึงการแปลงร่าง

มีงานแปลอีกหลายประเภทที่โปรแกรมเหล่านั้นไม่สามารถแทนที่มนุษย์ได้ โดยเฉพาะงานวรรณกรรม
— ภาสุรี ลือสกุล

ในวงการวรรณกรรมไทย ผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านลาตินอเมริกาที่มีชื่อเป็นอันดับแรกๆ คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ภาสุรี ลือสกุล ผู้เป็นทั้งอาจารย์ นักแปล และบรรณาธิการ จบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาลาตินอเมริกันศึกษา และปริญญาเอก สาขาวรรณคดีภาษาสเปน จากมหาวิทยาลัยซาลามังก้า (Universidad de Salamanca) ประเทศสเปน ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน และผู้อำนวยการศูนย์ลาตินอเมริกาศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณภาสุรีมีผลงานด้านการแปลวรรณกรรมลาตินอเมริกาจาก 3 ประเทศ คือ วรรณกรรมชิลี ผลงานของปาโบล เนรูดา กวีโนเบล เรื่อง กวีนิพนธ์แห่งรักยี่สิบและบทเพลงแห่งความสิ้นหวังหนึ่งบท (Veinte poemas de amor y una canción desesperada), วรรณกรรมอาร์เจนตินา สุดขอบโลกที่ฟินิสแตร์เร (Finisterre) ของมาเรีย โรซา โลโฆ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ หนังสือแปลดีเด่นรางวัลพระยาอนุมานราชธน ประจำปี พ.ศ.2558 และวรรณกรรมเปรู คือ หนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ของเซซาร์ บาเยโฆ (Antología poética de César Vallejo) เล่มนี้จัดทำในโอกาสครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและเปรู เป็นการทดลองการแปลผ่านภาษาที่ 3 คือภาษาอังกฤษโดยคุณกิตติพล สรัคคานนท์ และคุณภาสุรีเป็นบรรณาธิการต้นฉบับโดยเทียบบทแปลไทยกับต้นฉบับสเปน

การทำงานแปลวรรณกรรมลาตินอเมริกาต้องใช้ความเข้าใจบริบทท้องถิ่น เชื้อสาย สังคม ประวัติศาสตร์ หรือวัฒนธรรมของภูมิภาคที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ คุณภาสุรีกล่าวว่า การต้องเรียนรู้ภูมิหลังของภูมิภาคนี้เพื่องานด้านวรรณกรรมเป็นความหลงใหลของชีวิต เมื่อได้อ่าน ได้เดินทางและพูดคุยกับผู้คนที่หลากหลาย โดยเฉพาะการได้พูดคุยหรือสัมภาษณ์นักเขียนตัวจริงเพื่อทำความเข้าใจถึงผลงานนั้นๆ จะทำให้นักแปลเข้าถึงเนื้องานได้มากขึ้น ประเทศที่ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการมี 21 ประเทศ แต่ละประเทศก็จะมีคำศัพท์ สำนวนและแนวคิดในการใช้ภาษาที่แตกต่างกัน ดังนั้นหากนักแปลมีประเด็นที่สงสัยในทำงานแปลวรรณกรรมของประเทศใดก็จำเป็นต้องสอบถามจากคนประเทศนั้นโดยตรง

สำหรับนักเขียนภูมิภาคลาตินอเมริกาที่คุณภาสุรีชื่นชอบ คือ ฆูลิโอ กอร์ตาซาร์ (Julio Cortázar) ชาวอาร์เจนตินา ผู้มองวรรณกรรมเหมือนเกมที่จะชักชวนให้ผู้อ่านมาร่วม ‘เล่น’ ด้วยกัน นอกจากเรื่อง ตั้งเต (Rayuela) ที่ฉีกคอนเซ็ปต์นวนิยายโดยทำให้การอ่านเป็นเหมือนการเล่นตั้งเตที่ต้องกระโดดข้ามบทไปมาแล้ว ยังมีผลงานอีกจำนวนมากเป็นเรื่องสั้นแนวแฟนตาซีที่เชิญชวนให้ผู้อ่านร่วมสนุกและครุ่นคิดไปกับเรื่องราวเหนือจริงที่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน สำหรับผู้ที่สนใจการแปลวรรณกรรมหรืออยากเป็นนักแปลอาชีพ คุณภาสุรีได้ให้คำแนะนำไว้ว่า

“งานแปลวรรณกรรมเป็นงานที่ยากและมีความลึกซึ้ง ผู้แปลต้องเป็นผู้ที่รักและสนใจผลงานนั้นๆ อย่างจริงจัง และสนใจทุกรายละเอียด ทั้งเนื้อหา มุมมอง เทคนิคการเล่า และอารมณ์ความรู้สึกที่ผู้เขียนถ่ายทอด ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีโปรแกรมต่างๆ ที่ช่วยเรื่องการแปล แต่ยังมีงานแปลอีกหลายประเภทที่โปรแกรมเหล่านั้นไม่สามารถแทนที่มนุษย์ได้โดยเฉพาะงานวรรณกรรม เพราะยังคงจำเป็นต้องใช้จินตนาการของมนุษย์และความรู้เข้าใจบริบทหลากหลายในการแปลอยู่”


 
AW-The_translator_Indian-Portugal.jpg
 

การแปลวรรณกรรมภาษาโปรตุเกส

ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษากลุ่มโรมานซ์ มีผู้ใช้เป็นภาษาหลักทั่วโลกกว่า 200 ล้านคน ปัจจุบันใช้ในประเทศหลักๆ เช่น โปรตุเกส บราซิล แองโกลา โมซัมบิก ติมอร์-เลสเต เป็นต้น ในอดีตโปรตุเกสเป็นหนึ่งในจักรวรรดิอาณานิคมที่รุ่งเรืองที่สุดของโลกทั้งการค้าขาย การเดินเรือ การทหาร และการขยายอาณานิคม มีดินแดนในอาณัติหลากหลายทวีป ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาใต้ แอฟริกา อินเดีย และเอเชีย เรืองอำนาจยาวนานที่สุดในหมู่จักรวรรดิยุโรปเกือบ 500 ปี โดยสิ้นสุดความเป็นจักรวรรดิลงในปี 1999

ในสมัยก่อนประเทศไทยใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาสำหรับติดต่อกับชาวยุโรป แต่เพิ่งจะเลิกใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาทางการทูตในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง ปัจจุบันยังหลงเหลือวัฒนธรรมและองค์ความรู้ของโปรตุเกสให้เห็นอยู่ แต่ด้านภาษากลับเสื่อมความนิยมลงอย่างน่าแปลกใจ สำหรับวรรณกรรมภาษาโปรตุเกสที่แปลโดยตรงสู่ภาษาไทยนับว่ามีจำนวนน้อย เนื่องจากขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญทางภาษาที่ต้องมีทักษะการแปลและสุนทรียศาสตร์ทางวรรณกรรม อีกทั้งความเข้าใจในภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง ศาสนา ฯลฯ

ทุกคนที่มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตหนังสือหนึ่งเล่มมีความสำคัญเท่าเทียมกันทั้งหมด และนักแปลคือ ส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิต จึงต้องทำงานประสาน รับผิดชอบงาน ตรงต่อเวลา เพราะจะส่งผลกระทบต่อแผนการผลิตได้
— กอบชลี

กอบชลี นักแปลวรรณกรรมภาษาโปรตุเกส กล่าวว่า ที่จริงนั้นภาษาโปรตุเกสไม่ได้ต่างจากภาษาอื่น ภาษาโปรตุเกสก็ประสบปรากฏการณ์ร่วมเหมือนภาษาอื่นทั่วไป นั่นก็คือมีแบบแผนและระบบระเบียบเฉพาะตัว ภาษาได้รับอิทธิพลจากภายในและภายนอกกลุ่มภาษา เช่นการมีคำศัพท์ภาษาอาหรับราว 500 คำ ตัวภาษาผ่านการปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัยและค่านิยมของผู้ใช้ภาษา นอกจากนี้ภาษาโปรตุเกสยังคงมีอิทธิพลต่อดินแดนที่ครั้งหนึ่งผู้ใช้ภาษาโปรตุเกสเคยเข้าไปยึดครองหรืออาศัย ตัวอย่างที่ใกล้ตัวเรา คือ คนไทยเชื้อสายโปรตุเกสในชุมชนวัดคอนเซ็ปชั่น ย่านสามเสน ซึ่งยังมีการใช้คำในภาษาโปรตุเกสเป็นคำเรียกญาติพี่น้องอยู่

เสน่ห์ของวรรณกรรมภาษาโปรตุเกสอยู่ที่การแปลไปตามพื้นที่วัฒนธรรม ที่ใช้ภาษาโปรตุเกส ยกตัวอย่างเรื่อง กัปตันเม็ดทราย (Capitães da Areia หรือ Captains of the Sands) ของ ฌอร์จ อะมาดู (Jorge Amado) ซึ่งเกิดขึ้นที่เมืองซัลวาดอร์ รัฐบาเยีย ประเทศบราซิล ประชากรหลักเป็นชาวบราซิลเชื้อสายแอฟริกา สะท้อนปัญหาเด็กเหลือขอที่ถูกรังเกียจและถูกทอดทิ้ง ลูกหลานกลุ่มทาสผิวดำที่ถูกกดขี่ สถาบันครอบครัวล่มสลาย ความเหลื่อมล้ำทางสังคมปะทะกับอำนาจรัฐ สถาบันศาสนาหลัก (ลัทธิเอกเทวนิยม) เป็นต้น

 

สำหรับผู้ที่เคยอ่านนวนิยายของที่เขียนด้วยภาษาโปรตุเกสแปลตรงสู่ภาษาไทยน่าจะคุ้นเคยกับชื่อ ‘กอบชลี’ จุดเริ่มต้นในการเป็นนักแปลภาษาโปรตุเกส คือ เมื่อครั้งที่รับผิดชอบงานร่าง แปลและเรียบเรียงเอกสาร บทความ และข่าวต่างๆ ในแผนกกงสุลและแผนกวัฒนธรรมประจำสถานทูตโปรตุเกส ผลงานวรรณกรรมแปลเรื่องแรกของกอบชลี คือ เมืองทดสอบบาป (The Devil & Miss Prym) โดยเปาลู กูเอลญู่ ตีพิมพ์ในปี 2546 ซึ่งแปลร่วมกับ ‘กันเกรา’ หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการทำงานแปลเล่มนี้แล้ว กอบชลีต้องประสบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิต ประกอบกับมีภาระงานมากมายจึงไม่ได้ติดตามผลงาน โดยทราบว่าผลงานได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มเรียบร้อยเมื่อผู้ร่วมแปลแจ้งข่าวมา ฉะนั้นหนังสือเล่มนี้กอบชลีกล่าวว่า “ขอยกเครดิตทั้งหมดให้แก่กันเกรา” ปัจจุบันกอบชลีมีผลงานวรรณกรรมแปลจากภาษาโปรตุเกสหลายเล่ม อาทิ กัปตันเม็ดทราย (Capitães da Areia) และ กาบริแอลา กานพลู และอบเชย (Gabriela, cravo e canela) ของ ฌอร์จ อะมาดู, ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน (The Alchemist) ของ เปาลู กูเวลยู (Paulo Coelho) และ บอด (Ensaio sobre a Cegueira) ของ ฌูเซ่ ซารามากู (José Saramago)

ผู้ที่สนใจอยากเป็นนักแปล จากประสบการณ์การแปลของกอบชลีเธอมีคำแนะนำว่า

“พึงทำงานให้สมตามความคาดหวังของผู้ว่าจ้าง ไม่สุกเอาเผากินโดยเด็ดขาด นักแปลจะต้องเตรียมร่างกาย สมาธิ สติปัญญา และเวลาให้พร้อมสำหรับการทำงาน ที่สำคัญคือ เตรียมหัวใจไว้น้อมรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์จากทุกๆ คน เพื่อปรับปรุงงานแปลให้มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด จากประสบการณ์การทำงานในฐานะนักแปล กอบชลีมองว่าทุกคนที่มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตหนังสือหนึ่งเล่มมีความสำคัญเท่าเทียมกันทั้งหมด และนักแปลคือ ส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิต จึงต้องทำงานประสาน รับผิดชอบงาน ตรงต่อเวลา เพราะจะส่งผลกระทบต่อแผนการผลิตได้”


 
AW-Translator_Korean.jpg
 

การแปลวรรณกรรมภาษาเกาหลี
ประเภทงานเขียนสารคดี (Non-fiction)

ในสมัยโบราณ พื้นที่ของประเทศเกาหลีในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโชซอน แม้มีการปกครองและมีอำนาจยิ่งใหญ่ ทว่าอาณาจักรนี้กลับไม่มีภาษาหรือตัวอักษรเป็นของตนเองแต่หยิบยืมภาษาจีนมาใช้ อย่างที่ทราบกันว่าภาษาจีนมีความซับซ้อนและมีอักขระจำนวนมากฉะนั้นการจะศึกษาอักษรจีนจึงต้องใช้เวลานาน ผู้ที่สามารถเล่าเรียนได้จึงมีเพียงชนชั้นสูงเพราะมีเวลาและเข้าถึงผู้มีความรู้ที่ช่วยถ่ายทอดทักษะภาษาจีนได้ ด้วยเหตุนี้ผู้คนทั่วไปซึ่งเป็นชนชั้นสามัญชนจึงไม่สามารถอ่านออกและเขียนได้ เพื่อแก้ไขปัญหาประชากรไม่รู้หนังสือและให้ดินแดนแห่งนี้มีภาษาและตัวอักษรเป็นของตนเอง พระเจ้าเซจงมหาราช (1397–1450) และคณะนักปราชญ์จึงประดิษฐ์อักษรที่ง่ายต่อการเรียนรู้ เรียกว่า ฮันกึล (Hangeul) ขึ้นในปี 1443 ประกอบด้วยพยัญชนะ 19 ตัว และสระ 21 ตัว โครงสร้างประโยคเรียงแบบ ประธาน-กรรม-กริยา ทว่าในสมัยโชซอนแม้จะเริ่มมีการใช้ภาษาเกาหลี แต่นักปราชญ์ยังใช้ภาษาจีนเป็นภาษาในราชการหรือผลิตงานเขียน จุดนี้ทำให้เกิดช่อวงว่างความรู้และการเข้าถึงวรรณกรรมพอสมควร

 

วรรณกรรมของเกาหลีแบ่งเป็นยุคคลาสสิกและยุคสมัยใหม่ วรรณกรรมคลาสสิกเกิดขึ้นหลังการประดิษฐ์อักษรฮันกึล งานเขียนมักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อ ลัทธิ ศาสนา ธรรมชาติ การเดินทาง เป็นต้น ส่วนวรรณกรรมยุคสมัยใหม่เกิดขึ้นเมื่อมีการติดต่อกับชาติตะวันตกซึ่งนำพาแนวคิดสมัยใหม่ รวมถึงศาสนาคริสต์เข้ามาเผยแพร่ งานเขียนในยุคนี้แฝงด้วยแนวความคิดต่อต้านระบบขุนนางที่อ่อนแอและเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง

ในปัจจุบัน วรรณกรรมร่วมสมัยเกาหลีใต้ ส่วนมากคือการบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนที่ใช้ชีวิตผ่านปัญหาและสภาวการณ์ในแต่ละช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ประเทศถูกรุกราน สงครามและการถูกแบ่งแยกประเทศเป็นเหนือและใต้ ช่วงฟื้นฟูประเทศ ยุครัฐบาลเผด็จการทหาร ยุคแห่งประชาธิปไตย ยุคการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี มาจนถึงยุคการส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ แม้เกาหลีใต้จะผ่านเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในหลากหลายมิติแต่ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงมีความอนุรักษ์นิยมสูง ยังสืบทอดกรอบแนวคิดสังคมชายเป็นใหญ่ ยึดถืออุดมคติ มีวิถีชีวิตอิงด้วยหลักขงจื๊อ ฯลฯ ถือเป็นความความย้อนแย้งที่น่าสนใจ วรรณกรรมของเกาหลีใต้จึงถ่ายทอดเรื่องราวให้เห็นภาพของรูปแบบการดำเนินชีวิต แนวคิด ความเชื่อ และทัศนคติที่สั่งสมมา โดยไม่ลืมที่จะสะท้อนถึงสภาวะจิตใจ ความกดดัน ความปรารถนาและความมุ่งมั่นแบบชาวเกาหลี

นักแปลที่ดีต้องไม่ตัดและไม่เติม แต่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อม ระหว่างภาษาต้นทางและปลายทางให้ถูกต้อง เหมาะสมและครบถ้วนที่สุด
— ตรองสิริ ทองคำใส

นักแปลวรรณกรรมภาษาเกาหลีที่มีชื่อเสียงและมีผลงานมากมายของไทยในเวลานี้คือ ตรองสิริ ทองคำใส เธอกล่าวว่า การแปลงานเขียนภาษาเกาหลีทั้งประเภทสารคดี (Non-fiction) และประเภทบันเทิงคดี (Fiction) แม้จะมีความแตกต่างกันแต่ก็ต้องอาศัยความละเอียดในการทำงานเหมือนกัน ความแตกต่างสำคัญที่ชัดเจนข้อหนึ่ง นั่นก็คือ งานเขียน Fiction จะมีการเรียกร้องลูกเล่นทางภาษาเยอะกว่า โดยเสน่ห์ของงานประเภทนี้คือการเผยจริตหรือตัวตนของชนชาติต้นทางของต้นฉบับผ่านมุมมองและประสบการณ์ของผู้เขียน นอกจากเนื้อเรื่องแล้วยังมีการแสดงให้เห็นถึงขนบ วัฒนธรรม หรือภูมิปัญหาในสังคมของเจ้าของภาษา ส่วนงานเขียน Non-fiction เป็นงานที่มาสร้างความสมดุลและความแข็งแรงให้กับการอ่าน หากการอ่าน Fiction ได้จินตนาการ การอ่าน Non-fiction ก็คือ ได้ความรู้และความจริง

เมื่อพูดถึงเทคนิคในการทำงานแปลภาษาเกาหลี คุณตรองสิริกล่าวว่า ต้องเริ่มจากการอ่านต้นฉบับเพื่อทำความเข้าใจ ‘น้ำเสียงของหนังสือ’ การทำแบบนี้จะช่วยประหยัดเวลาและทำให้เลือกคำที่เหมาะสมในการแปลได้เร็วขึ้น เมื่ออ่านจบแล้วก็ค่อยกำหนดเป้าหมายว่าจะต้องแปลให้ได้วันละกี่หน้าเพื่อให้ทันกำหนดส่งงาน ส่วนที่มาของคลังคำศัพท์ต้องสะสมมาจากการอ่านเพิ่มเติมจากหนังสือ บทความ ข่าว และอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับงานที่ทำ และนักแปลที่ดีต้องไม่ตัดและไม่เติม แต่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อม ระหว่างภาษาต้นทางและปลายทางให้ถูกต้อง เหมาะสมและครบถ้วนที่สุด

 

สิ่งหนึ่งที่วงการวรรณกรรมและการแปลของประเทศเกาหลีใต้มีมาตราฐานสูงและมีความเคลื่อนไหวสม่ำเสมอก็เพราะรัฐบาลทำการส่งเสริมงานด้านวัฒนธรรมอย่างเต็มที่และเป็นรูปธรรม มีการจัดตั้งหน่วยงานของกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เช่น Arts Council Korea, Korea Literature Translation Institute (KLTI) หรือสถาบันการแปลวรรณกรรมเกาหลี, Paju Book City เมืองธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์แห่งเมืองพาจูที่ภาคเอกชนรวมตัวกันก่อตั้ง และ Koreana magazine เป็นนิตยสารที่สนับสนุนการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมเกาหลีใต้โดยเฉพาะ โดยตีพิมพ์วรรณกรรมของนักเขียนเกาหลีใต้เป็นภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น

สถาบันการแปลวรรณกรรมเกาหลี หรือ KLTI ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานของนักเขียนและกวีชาวเกาหลีใต้ออกสู่สังคมโลก พิจารณาผลงานโดยคณะกรรมการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางวรรณกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการแปล และอาจารย์จากมหาวิทยาลัย ร่วมกันพิจารณาจากคุณค่าในด้านต่างของผลงาน ซึ่งมีการสนับสนุน 2 ทาง คือ นักเขียนต้องเขียนคำร้องมาที่สถาบัน อธิบายถึงผลงานอย่างละเอียดเพื่อรับงบประมาณสำหรับตีพิมพ์และการแปล และอีกทางหนึ่ง คือ นักเขียนนำผลงานที่ตีพิมพ์แล้วมานำเสนอ เพื่อให้องค์กรนำไปแปลและจัดพิมพ์จำหน่ายทั่วโลก เป้าหมายของ KLTI คือในแต่ละปีจะต้องผลิตงานแปลอย่างน้อย 50 เล่ม ใน 28 ภาษาทั่วโลก ในปี 2016 ฮัน กัง (Han Kang) นักเขียนหญิงชาวเกาหลีใต้คว้ารางวัลวรรณกรรมใหญ่อย่าง Man Booker International Prize จากนวนิยายเรื่อง เดอะ เวจิแทเรียน (The Vegetarian) ซึ่งเป็นงานเล่มแรกของผู้เขียนที่แปลถูกเป็นภาษาอังกฤษ

ตรองสิริ ทองคำใส จบการศึกษาจากภาควิชาภาษาเกาหลี คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จุดเริ่มต้นในการเข้าสู่แวดวงหนังสือคือการไปสมัครงานกับสำนักพิมพ์เองโดยตรง งานช่วงแรกๆ ยังไม่ใช่งานแปลเต็มเล่ม แต่เป็นงานสรุปหรือวิจารณ์ต้นฉบับ ก่อนจะต่อยอดและพัฒนามาสู่ทุกวันนี้ ทั้งงาน Non-fiction ประเภทจิตวิทยาการพัฒนาชีวิต เช่น ขยันให้ถูกที่ทำงานไม่ถึงปีก็สำเร็จ (A Manual for the First Year Employee at Work) โดย โซยองฮวัน และ ยิ้มรับคนไม่ดีที่ผ่านเข้ามาในชีวิต (How to Deal with Rude People with a Smile ) โดย ชองมุนจอง เป็นต้น และงาน Fiction ที่หลายคนรู้จัก คือ คิมจียอง เกิดปี 82 (Kim Ji-Young: Born 1982) โดย โชนัมจู

คำแนะนำสั้นๆ สำหรับผู้ที่อยากทำงานเป็นนักแปลจากคุณตรองสิริ คือ

“ควรรักการอ่าน ถ้ารักการอ่านเป็นทุนเดิม คุณจะทำงานได้อย่างมีความสุข มั่นคง และยืนระยะมากกว่า”


 
AW-Translator_Czech.jpg
 

การแปลวรรณกรรมภาษาเช็ก

ยุโรป เป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายซึ่งเกิดจากการแบ่งแยก ผสมผสาน และทับซ้อนกันมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม สังคม ศาสนา คติความเชื่อ รูปแบบการเมืองการปกครอง ฯลฯ ภูมิศาสตร์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีบทบาทในแทบทุกยุคสมัยผ่านระบอบการปกครองหลักๆ ทุกรูปแบบที่สร้างความรุ่งเรืองแบบขีดสุดไปจนถึงการล่มสลายย่อยยับ ประวัติศาสตร์ทางสังคมส่งผลยุโรปกลายเป็นพื้นที่แห่งภูมิปัญญาที่ซับซ้อน มีลักษณะเฉพาะหลากหลายและย้อนแย้งในตัว

 

ประเทศสาธารณรัฐเช็ก (Czech Republic) อยู่ใจกลางทวีปยุโรป ในอดีตเป็นอาณาเขตที่มีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดผ่านรูปแบบการปกครองที่นำพาความรุ่งโรจน์ไปจนถึงความแร้นแค้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐอิสระ รัฐจักรวรรดิ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สาธารณรัฐประชาธิปไตย แล้วเสียอธิปไตยโดยการยึดครองของระบอบเผด็จการนาซี เผด็จการคอมมิวนิสต์ และเปลี่ยนสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐในปัจจุบัน อิทธิพลจากสังคมและการเมืองส่งผลต่อชีวิต มุมมองแนวคิดและอัตลักษณ์ของประชาชน ดังนั้นงานเขียนต่างๆ จึงอัดแน่นด้วยสารและแฝงเจตคติไว้มากมาย การอ่านวรรณกรรมเช็ก (รวมถึงภูมิภาคยุโรป) ผู้อ่านจึงต้องใช้คติและสำนึกถึงภูมิหลังของภาษา ประวัติศาสตร์ มายาคติต่างๆ ภูมิศาสตร์หรือช่วงเวลาในเนื้อเรื่องหรือช่วงเวลาของผู้ประพันธ์ด้วย

ชาวเช็กใช้ภาษา วรรณกรรม และศิลปะเป็นเครื่องมือขัดขืนต่ออำนาจ
— วริตตา ศรีรัตนา

วรรณกรรมเช็กที่ได้รับความสนใจจากนักอ่านทั่วโลกทั้งเพื่อการอ่านหรือเพื่อศึกษามักเป็นงานเขียนในช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบสังคมครั้งใหญ่ การตกอยู่ภายใต้การควบคุมโดยระบอบการปกครองหรือคุกคามโดยระบบการเมืองเป็นแรงผลักให้นักเขียนหรือศิลปินสร้างสรรค์ผลงานที่เปี่ยมด้วยพลังขบถ ความอึดอัดคับแค้น และสอดแทรกสาระให้เป็นตัวสื่อสารผ่านเนื้อความ ชาวเช็กใช้ภาษา วรรณกรรมและศิลปะเป็นเครื่องมือขัดขืนต่ออำนาจ ส่งผลให้วรรณกรรมเช็กมีลักษณะเฉพาะตัวแตกต่างจากวรรณกรรมยุโรปชาติอื่นๆ โดยมีการแสดงความคิดเชิงปรัชญาอย่างซับซ้อนซึ่งมาจากการผสมผสานกันระหว่างความสุขและความทุกข์ระทมของคนธรรมดาสามัญ เยาะเย้ยสิ่งต่างๆ ด้วยความสมเพชเวทนาและความเห็นอกเห็นใจ สะท้อนภูมิหลังอันเจ็บปวดจากถูกกระทำย่ำยี ทว่าหัวร่อต่อความอ่อนแอและจำนนต่ออำนาจการเมืองการปกครอง

 

นวนิยาย (Novel) ที่ต้นฉบับเขียนด้วยภาษาเช็กได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยตรงเล่มแรกและเล่มเดียวในประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย-เช็ก ได้การรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐเช็ก คือ ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน แปลจาก Příliš hlučná samota (หรือ Too Loud a Solitude) ของ โบฮุมิล ฮราบัล (Bohumil Hrabal) แปลเป็นภาษาไทยโดย วริตตา ศรีรัตนา พิมพ์ครั้งแรก ฉบับปกอ่อนในปี 2017 และพิมพ์ครั้งที่ 3 ฉบับพิเศษออกแบบปกใหม่ ปกแข็ง ในปี 2019 โดยสำนักพิมพ์ Bookmoby Press

ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน (1976) เป็นเรื่องราวของคนงานโรงงานบดอัดกระดาษขยะรีไซเคิล ชื่อ ฮัญจา ชายแสนสามัญที่ทั้งขี้เมา สกปรก แถมชอบพูดพล่าม หน้าที่ของเขาคือทำลายหนังสือและจิตรกรรมบนผืนผ้าใบในยุคสาธารณรัฐสังคมนิยมเซโกสโลวะเกียเซ็นเซอร์งานเขียนและงานศิลปะ ฮัญจาหลงใหลการอ่าน รักกระดาษ ชื่นชมศิลปะ หมกมุ่นในปรัชญาและคลั่งไคล้วรรณกรรม แต่ต้องถูกจำกัดสิทธิการอ่านและลิดรอนเสรีภาพการเรียนรู้ ทำได้เพียงใช้ชีวิตทำงานกับเครื่องบดอัดกระดาษไฮดรอกลิกอย่างเดียวดาย

 

โบฮุมิล ฮราบัล (1914-1997) ผู้เขียน เกิดในภูมิภาคโมราเวีย อาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี ได้รับการศึกษาถึงระดับมหาวิทยาลัยชาร์ลส์ที่กรุงปราก ในคณะนิติศาสตร์ ปี 1935 แต่สำเร็จการศึกษาในปี 1946 เพราะการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยของเชโกสโลวะเกียถูกระงับและยกเลิกโดยคำสั่งใต้ระบอบนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสิทธิในการศึกษาถูกริดรอนเขาทำงานใช้แรงงานหลากหลายอาชีพเรื่อยมาตลอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยคอมมิวนิสต์ ผลงานของฮราบัลมักสะท้อนเรื่องราวของชีวิตคนธรรมดาที่ถูกกดขี่และดิ้นรนต่อสู้เอาชีวิตรอดภายใต้ระบอบการปกครอง ใช้ชีวิตตามอัตภาพโดยจำนนต่ออำนาจและระบอบ ยินยอมกดขี่ตัวเองให้ต้องอยู่เป็น ซึ่งนำไปสู่ความชินชาสิ้นหวัง

ในปี 2019 รองศาสตราจารย์ ดร.วริตตา ศรีรัตนา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์และประธานหลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชายุโรปศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แปล ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน ได้รับเกียรติเข้ารับรางวัล Gratias Agit Award รางวัลที่กระทรวงการต่างประเทศเช็กมอบให้บุคคลหรือหน่วยงาน และหน่วยงานอิสระที่ช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมเช็กในต่างแดน นับเป็นคนไทยคนแรกและเป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลดังกล่าว เนื่องจากการมีส่วนร่วมในการสอนและการวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมเช็ก ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และการเมือง การส่งเสริมการจัดกิจกรรมศิลปะและวัฒนธรรมเช็กในประเทศไทย และยังมีส่วนในการแปลวรรณกรรมเรื่อง Příliš hlučná samota ของ โบฮุมิล ฮราบัล และจัดแสดงละครเรื่อง The Good Soldier Švejk ของ ยาโรสลัฟ ฮาเช็ก (Jaroslav Hašek) เป็นภาษาไทย

▪︎


แหล่งข้อมูลประกอบ.
1) บทความ เปิดโลกวรรณกรรมเช็ก: โบฮุมิล ฮราบัล ความทรงอำนาจแห่ง ตัวละครไร้อำนาจ ความเป็นการเมืองในความไม่เป็นการเมือง และสาระแห่งความไร้สาระในกลวิธีการ “พล่าม/แถ” จากวารสารยุโรปศึกษา ปีที่ 23 ฉบับที่ 2 โดยศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2) บทสัมภาษณ์ คุยกับ 'วริตตา ศรีรัตนา' ว่าด้วย Franz Kafka ยุโรปกลาง/ตะวันออก รางวัลที่ได้และการเมืองไทย โดยประชาไท
3) บทความ โอลกา โตการ์ชุก (Olga Tokarczuk)–นักพเนจรในภูมิภาคจินตกรรม...แห่งชีวิตจริง โดยประชาไท


 
 

การแปลวรรณกรรมภาษาอังกฤษของนักเขียนเชื้อสายอิสราเอล

ปัจจุบัน วรรณกรรมแปลในประเทศไทยไม่ได้จำกัดอยู่แค่งานจากภาษาหรือประเทศที่คุ้นเคย เช่น อังกฤษ อเมริกัน เยอรมัน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน หรือเกาหลีเท่านั้น โลกวรรณกรรมแปลของไทยเปิดรับงานจากภูมิภาคที่นักอ่านบางคนไม่เคยนึกถึงอย่าง ตะวันออกกลาง ดินแดนที่ผู้คนนึกถึงประเด็นความขัดแย้งและสงคราม ทั้งที่บริเวณนี้เป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมเก่าแก่ของโลก ผสมผสานมิติทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และความหลากหลาย

จุดร่วมของนักเขียนชาวอิสราเอลที่เป็นเสน่ห์ของวรรณกรรม คือ อารมณ์ขันที่แสนจะดำมืดและการย้อนวิพากษ์ตัวเองอยู่บ่อยๆ
— ธนรรถวร จตุรงควาณิช

ประเทศไทยมีวรรณกรรมของนักเขียนเชื้อสายอิสราเอลที่น่าสนใจ อาทิ ม้าตัวหนึ่งเดินเข้ามาในบาร์ (A Horse walks into a bar) ของ ดาวิด โกรสมัน (David Grossman) นิมรอดนอตหลุด (Nimrod Flip-Out) และ คิดถึงคิสซิงเจอร์ (Missing Kissinger) ของ เอ็ตการ์ เคเร็ต (Etgar Keret) ทั้งสามเล่มนี้แปลโดยธนรรถวร จตุรงควาณิช ผู้เชื่อมประตูพาวรรณกรรมอิสราเอลสู่สายตานักอ่านไทย ได้กล่าวถึงวรรณกรรมอิสราเอลว่า ‘ไม่ได้เต็มแน่นไปด้วยเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง แต่ว่าด้วยเรื่องประสบการณ์มนุษย์ทั่วไปแสนสากล’

รูปแบบงานวรรณกรรมของนักเขียนชาวอิสราเอลที่นักแปลมีโอกาสได้ทำงานและตรวจแก้มีแนวทางแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งงานเขียนร่วมสมัย งานเขียนถ่ายทอดชีวิตชาวเมืองแบบฮิปๆ คูลๆ ไปจนถึงงานที่เล่าประวัติผู้เขียนขนานไปกับประวัติการสร้างรัฐอิสราเอลที่ต้องใส่เชิงอรรถกันมือหงิก มีทั้งการใช้คำที่กระชับสไตล์เฮมมิงเวย์ (Hemingway) และการใช้คำพรรณนารายละเอียดแสนรุ่มรวย ทั้งนี้ทั้งนั้น จุดร่วมของนักเขียนชาวอิสราเอลที่เป็นเสน่ห์ของวรรณกรรม คือ อารมณ์ขันที่แสนจะดำมืดและการย้อนวิพากษ์ตัวเองอยู่บ่อยๆ นักเขียนอิสราเอลที่เป็นที่นิยมทุกคนต้องเคยโดนด่าด้วยคำว่า ‘ชังชาติ’ และอีกหนึ่งเสน่ห์ที่นักแปลมองเห็นจากวรรณกรรมอิสราเอลก็คือวิธีการสร้างตัวละคร นักเขียนนิยมสร้างละครที่มีความเพี้ยนและมีปมทุกตัวทว่าไม่ฟูมฟาย จึงทำให้ผู้อ่านเอาใจช่วยตัวละครโดยไม่รู้สึกรำคาญ

ธนรรถวรพำนักอยู่ที่ประเทศอิสราเอลในขณะทำงานแปลของนักเขียนจากประเทศดังกล่าว เธอบอกว่านั่นเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการทำงานแปลของเธอมาก ทั้งในเรื่องของการถอดเสียงต่างๆ ความเข้าใจในบริบทสังคม และเกร็ดวัฒนธรรมของอิสราเอล

“อย่างเช่น ผู้เขียนใส่ข้อมูลตัวละคร ก. ว่ามาจากเมืองนี้ พอเราอยู่อิสราเอลมานานก็จะเริ่มเข้าใจว่าเมืองที่ว่านั้นขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งที่วัยรุ่นกุ๊ยๆ อยู่อาศัยกัน สรุปคือมันช่วยให้เราเข้าใจ Stereotypes ของสังคมอิสราเอลซึ่งเอามาใช้ในการแปลได้ ส่งผลให้เราอินมากขึ้นไปด้วย”

แต่ถึงอย่างนั้น การทำงานของเธอก็ใช่ว่าจะไร้ปัญหา

“ปัญหาเรื่องการแปลวรรณกรรมอิสราเอลก็คงไม่ต่างจากการแปลวรรณกรรมชาติอื่นเท่าไหร่ หลักๆ ก็คือจะถ่ายทอดอารมณ์ขันและนัยยะทางวัฒนธรรมที่แทรกอยู่อย่างไรถึงจะทำให้ผู้อ่านสามารถอ่านได้อย่างลื่นไหล (แต่ไม่ลื่นเกินจนลืมว่าต้นทางคือวัฒนธรรมอื่น) อันนี้ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกซะทีเดียวแต่ก็พยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้”


 
 

การแปลวรรณกรรมภาษาญี่ปุ่น

วรรณกรรมญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นกลุ่มวรรณกรรมภาษาต่างประเทศที่ได้รับความนิยมและมีแฟนนักอ่านชาวไทยจำนวนมาก ทั้งประเภทบันเทิงคดี (Fiction) สารคดี (Non-fiction) ไปจนถึงหนังสือการ์ตูน (Manga) ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใดหนังสือแปลภาษาญี่ปุ่นก็มักได้รับการจัดพิมพ์เผยแพร่ให้เห็นในวงการหนังสือบ้านเราอย่างสม่ำเสมอ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากระแสความนิยมที่ได้การตอบรับและเกิดฐานแฟนนักอ่านใหม่อย่างล้มหลาม คือ วรรณกรรมคลาสสิกญี่ปุ่นยุคสมัยใหม่หรือที่เรียกว่ายุคคินได และนวนิยายร่วมสมัยที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และภาพยนตร์แอนิเมชั่น

 

ปัจจุบันการแปลวรรณกรรมภาษาต่างประเทศ ผู้จัดพิมพ์หันมาให้ความสำคัญกับการแปลจากต้นฉบับที่เป็นภาษาต้นทางมากขึ้น เนื่องจากแต่ละภาษาย่อมมีเอกลักษณ์ทางภาษา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ คำศัพท์ สำนวน บริบทวัฒนธรรม หรือกลวิธีในการประพันธ์ อันนำมาซึ่งอรรถรสดั้งเดิมของงานประพันธ์อย่างแท้จริง ซึ่งนักแปลผู้มีประสบการณ์และมีผลงานแปลวรรณกรรมจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นนับไม่ถ้วนและเป็นที่รู้จักดีของนักอ่าน ก็คือ อรรถ บุนนาค ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ JLIT

การแปลวรรณกรรมญี่ปุ่นในประเทศไทยนั้น คุณอรรถกล่าวว่าสามารถแบ่งหมุดหมายออกเป็น 5 ยุค

  • ยุคที่หนึ่ง (ยุคบุกเบิก)
    เรื่องแรกตามงานวิจัยของอาจารย์อาทร ฟุ้งธรรมสาร สันนิษฐานว่าเป็นเรื่อง จำพราก (ต้นฉบับภาษาอังกฤษชื่อ Namiko) ของ โทคุโตมิ โรกะ (Roka Tokutomi) แปลโดย อมราวดี นักแปลชื่อดังในยุคนั้น ลงตีพิมพ์เป็นตอนในนิตยสารรายสัปดาห์ นารีนารถ พ.ศ.2497 แล้วนำมาตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ.2518 นับได้ว่ามีประวัติศาสตร์ในการแปลงานวรรณกรรมญี่ปุ่นสู่บรรณพิภพไทยกว่า 60 ปี นอกจากอมราวดี มีอีกสองท่านที่บุกเบิกการแปลวรรณกรรมญี่ปุ่น ได้แก่ ฉุน ประภาวิวัฒน์ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งทั้งสองท่านแปลเรื่อง ราโชมอน ของ อะคุตางาวะ ริวโนะสุเกะ (Ryūnosuke Akutagawa) แต่ในระยะแรกนี้ผลงานแทบทั้งหมดแปลจากภาษาอังกฤษ การแปลจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นในช่วงเวลานี้มักจะเป็นการแปลโดยคณาจารย์ทางด้านภาษาและวรรณคดีญี่ปุ่นเพื่อใช้ในการศึกษาทางด้านวิชาการมากกว่าการอ่านเพื่อความบันเทิงในเชิงพาณิชย์ หรือเป็นการแปลในรายวิชาที่เรียน ลักษณะการแปลจากภาษาญี่ปุ่นต้นฉบับในยุคนี้จะเลือกเอาวรรณกรรมกระแสหลักและให้ความสำคัญกับการแปลในการคงรูปแบบดั้งเดิมตามต้นฉบับมากกว่าการแปลให้สละสลวย อ่านง่าย เลยทำให้มีภาพลักษณ์ว่าเป็นงานวรรณกรรมที่อ่านยาก

  • ยุคที่สอง
    ด้วยความสำเร็จของ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง (ต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นชื่อ 窓ぎわのトットちゃん) ผลงานของ คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ (Tetsuko Kuroyanagi) แปลโดย ผุสดี นาวาวิจิตร ตีพิมพ์รวมเล่ม พ.ศ.2527 จากการที่รวบรวมต้นฉบับลงเป็นตอนๆ ในนิตยสาร กะรัต เป็นการเริ่มยุคที่มีการแปลจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นและมีการขอลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง กลายเป็นยุคทองของวรรณกรรมเยาวชนญี่ปุ่น

  • ยุคที่สาม
    ช่วง พ.ศ.2545 เป็นต้นมา เกิดกระแสการแปลวรรณกรรมญี่ปุ่นร่วมสมัยซึ่งประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายด้วยนวนิยายชุดสยองขวัญ (ที่รู้จักกันดี เช่น Ring) ผลงานของ ซุสุกิ โคจิ (Koji Suzuki) เป็นยุคที่กำเนิดนักแปลวรรณกรรมญี่ปุ่นอาชีพที่แปลจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น และมีบรรณาธิการต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นโดยเฉพาะเกิดขึ้นด้วย ทำให้เกิดกระแสความนิยมวรรณกรรมแปลญี่ปุ่นร่วมสมัยเป็นอย่างมาก ในยุคนี้ มีสำนักพิมพ์หลายแห่งกระโดดเข้าร่วมในตลาดจนถือได้ว่าเป็นยุคฟองสบู่ของวรรณกรรมญี่ปุ่น

  • ยุคที่สี่
    ขอให้ชื่อว่าเป็นยุคทองของมุราคามิ ฮารุกิ (Haruki Murakami) โดยส่งต่อผ่านต้นฉบับของสำนักพิมพ์ต่างๆ ในยุคก่อนหน้านั้นมาพิมพ์ใหม่ที่สำนักพิมพ์กำมะหยี่ ทำให้เป็นภาพจำจนถึงปัจจุบันว่าเมื่อพูดถึง 'มุราคามิ' ก็ต้องนึกถึงสำนักพิมพ์นี้ แต่ก็ยังมีงานของนักเขียนร่วมสมัยญี่ปุ่นอื่นๆ อีกด้วย

  • ยุคปัจจุบัน
    เป็นยุคแห่งความหลากหลายและสำนักพิมพ์เล็กเฉพาะทางที่พิมพ์วรรณกรรมญี่ปุ่น โดยมีลักษณะเฉพาะเชี่ยวชาญต่างกันไปในแต่ละสำนักพิมพ์ อย่างเช่น สำนักพิมพ์เจลิตที่พิมพ์งานวรรณกรรมสมัยใหม่ของญี่ปุ่นโดยเฉพาะ สำนักพิมพ์บิบลิ (Bibli) และสำนักพิมพ์แซนด์วิช (Sandwich Publishing) ที่พิมพ์วรรณกรรมญี่ปุ่นแนว (คุณอรรถขอบัญญัติศัพท์เองว่า) ‘ญี่ปุ่นอุ่นๆ’ ซึ่งเป็นเรื่องที่อ่านแล้วอิ่มอุ่น อิ่มอกอิ่มใจ เป็นต้น

 

ความเปลี่ยนไปจากอดีตสู่ปัจจุบันของการแปลวรรณกรรมภาษาญี่ปุ่น คุณอรรถกล่าวว่าถ้าเปรียบเทียบกับยุคแรกถือได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก คือ มีความหลากหลายมากขึ้น มีวรรณกรรมเพื่อความบันเทิงในเชิงพาณิชย์มากขึ้นควบคู่ไปกับงานแนววรรณกรรมเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงตอบรับกลุ่มผู้อ่านแทบทุกกลุ่ม มีงานแปลแนวสารคดี (Non-fiction) เพิ่มขึ้น ส่วนในแง่ตลาด ก็มีความหลากหลายมากขึ้น สำนักพิมพ์มีความเฉพาะทางและเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมากขึ้น

ความน่าจะเป็นไปในอนาคตของวรรณกรรมภาษาญี่ปุ่น คือ มีวรรณกรรมแนวใหม่ๆ ของญี่ปุ่นอย่าง ไลต์บุงเก (Light bungei) ที่คุณอรรถกล่าวว่ายังไม่มีคำนิยมอย่างแน่ชัด หากอธิบายแบบหยาบๆ ก็คืองานวรรณกรรมที่อยู่ระหว่างวรรณกรรมกับไลต์โนเวล (Light novel) หากอธิบายแบบง่ายๆ ก็คือไลต์โนเวลสำหรับผู้ใหญ่ นอกจากนี้ ในอนาคตแนววรรณกรรมที่เคยมีอยู่แล้วของญี่ปุ่นแต่นักอ่านคนไทยยังไม่เคยลิ้มลอง อย่าง แนวไซไฟ(วิทยาศาสตร์) หรือแนวสยองขวัญและวรรณกรรมเยาวชนที่เคยเฟื่องฟูก็น่าจะกลับมา รวมถึงวรรณกรรมวัยรุ่นที่ไม่ใช่ประเภทไลต์โนเวล หรือกระทั่งนวนิยายกระแสหลักที่เขียนโดยนักเขียนหญิงของญี่ปุ่นแบบเดียวกับที่นักเขียนหญิงไทยเขียน หรือที่เรียกกันเป็นภาษาปากคนไทยว่า ‘น้ำเน่า’ น่าจะเข้ามาแปลให้กลุ่มนักอ่านไทยที่อ่านนวนิยายกระแสหลัก ได้มาลิ้มรส ‘น้ำเน่าแบบกลิ่นวาซาบิ’ บ้าง


 
 

การแปลวรรณกรรมภาษาเยอรมัน

วรรณกรรมเยอรมันเป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่ผู้คนทั่วโลกยกย่องในด้านรูปแบบการประพันธ์ ประเด็นและแก่นเรื่อง การผูกภูมิหลังของประวัติศาสตร์กับการเล่าอย่างแนบเนียน เอกลักษณ์หรือลายเซ็นของผู้เขียนที่น่าทึ่ง หากคุณเป็นนักอ่านวรรณกรรมแปลจากภาษาต่างประเทศ จงอย่าเกี่ยงหรือเมินเฉยต่อวรรณกรรมเยอรมันเด็ดขาด หนึ่งในนักแปลวรรณกรรมภาษาเยอรมันชั้นครูของไทย ก็คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ถนอมนวล โอเจริญ

เสน่ห์ของวรรณกรรมเยอรมัน คือ การกระตุ้นให้คิดตาม ให้มองลึกเข้าไปในจิตใจของตัวละคร ผู้แต่งใช้ภาษาและกลวิธีทางวรรณศิลป์ถ่ายทอดออกมาได้อย่างแยบยล ไม่มีการชี้นำ ปล่อยให้ผู้อ่านตีความและหาความหมายด้วยตนเอง และเสน่ห์อีกส่วนหนึ่งอาจมาจากความหลากหลายของการนำเสนอเนื้อหาและแนวคิดในรูปแบบที่หลากหลาย โดยใช้ภาษาและกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่แตกต่างกันไป

สิ่งที่สะท้อนในวรรณกรรมเยอรมันขึ้นอยู่กับว่าผู้ประพันธ์มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาใด งานเขียนของเขาย่อมได้รับอิทธิพลจากสังคม การเมือง ความเชื่อและแนวคิดในสมัยนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
— ถนอมนวล โอเจริญ

สิ่งที่สะท้อนในวรรณกรรมเยอรมันขึ้นอยู่กับว่าผู้ประพันธ์มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาใด งานเขียนของเขาย่อมได้รับอิทธิพลจากสังคม การเมือง ความเชื่อและแนวคิดในสมัยนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับภาษาและกลวิธี อย่างเช่น นวนิยายเรื่อง แวร์เธ่อร์ระทม (Die Leiden des jungen Werther) ของ โยฮันน์ โวลฟกัง ฟอน เกอเธ่ (Johann Wolfgang von Goethe) ซึ่งแต่งในปี 1774 นักแปลก็ต้องศึกษาโลกทัศน์และภูมิปัญญาในยุคสมัยที่เกอเธ่ประพันธ์งาน ภาษาและสำนวนที่แฝงบริบททางวัฒนธรรม คำศัพท์ ความเชื่อ การใช้ชีวิต ฯลฯ หรืองานของ ฟรันซ์ คาฟคา (Franz Kafka) การที่จะเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้ประพันธ์ที่เกิดในครอบครัวพ่อค้าชาวยิวในกรุงปรากภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี ไหนจะความสัมพันธ์กับสมาชิกครอบครัว และความแปลกแยกของตนเองทั้งในบ้านและสังคมภายนอก ในฐานะผู้แปลจึงจำเป็นต้องหาข้อมูลให้ครบถ้วน ต้องค้นคว้าจากเอกสารและหนังสืออ้างอิงมากมายเพื่อให้เข้าใจและสามารถถ่ายทอดมาเป็นภาษาไทยให้ตรงกับสิ่งที่ผู้ประพันธ์ต้องการสื่อออกมาได้มากที่สุด ความยากจึงอยู่ที่การตัดสินใจว่าจะเลือกใช้คำหรือสำนวนใดในภาษาไทยที่เหมาะสม

สำหรับรูปแบบวรรณกรรมเยอรมัน หากพูดถึง ‘วรรณกรรมเยอรมันปัจจุบัน’ จะหมายถึงวรรณกรรมที่ประพันธ์หลังปี 1989 ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญคือการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน อันนำไปสู่การรวมชาติของเยอรมนี แต่ปัจจุบันนักประพันธ์ชาวเยอรมันมีความสนใจที่หลากหลาย กระแสนิยมที่เห็นเด่นชัดคือ วรรณกรรมที่เรียกว่า วรรณกรรมแห่งความทรงจำ (Erinnerungsliteratur) ผู้แต่งเขียนถึงช่วงชีวิตและเหตุการณ์ในอดีตของคนรุ่นบิดามารดาหรือปู่ย่าตายายที่ค้นหาตัวตนและความหมายของชีวิตภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการของอดอล์ฟ ฮิตเล่อร์และช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กระแสวรรณกรรมที่นิยมในช่วงทศวรรษ 90 ได้แก่ วรรณกรรมประชานิยม (Popliteratur) ซึ่งบรรยายชีวิตของคนรุ่นหนุ่มสาวอายุ 20-25 ปี ที่ค้นหาความหมายของชีวิตด้วยการจัดปาร์ตี้ ดื่ม เสพยา และท่องอินเทอร์เน็ต ภาษาที่ใช้เขียนวรรณกรรมประเภทนี้เป็นภาษาง่ายๆ อ่านสบาย และเป็นภาษาพูด ส่วนกระแสนิยมอีกกระแสหนึ่งคือ วรรณกรรมเด็กและเยาวชน (Kinder-und Jugendliteratur)

วรรณกรรมเยอรมันปัจจุบันนั้นมีความหลากหลายมาก ทั้งเนื้อหาและรูปแบบการเขียนและลีลาภาษา วรรณกรรมบางเรื่องเน้นการกระตุ้นให้สังคมตระหนักรู้ถึงปัญหาทางสังคม การเมืองและปัญหาของโลกในปัจจุบัน นักประพันธ์บางกลุ่มเขียนนวนิยายกระแสนิยมหลัก ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ อนาคต วิทยาศาสตร์ จินตนาการ ซึ่งปัจจุบันผู้อ่านต้องการความบันเทิงและประเทืองปัญญาไปด้วยพร้อมกัน นอกจากนี้ความเปลี่ยนแปลงของวรรณกรรมเยอรมันมาจากอิทธิพลของการนำระบบดิจิทัลมาใช้ ทำให้ปัจจุบันใครสนใจงานเขียนก็สามารถเรียนรู้และเป็นนักเขียนออนไลน์ได้ และเป็นช่องทางที่มีกลุ่มผู้อ่านมีจำนวนมากด้วย

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ถนอมนวล โอเจริญ ผู้เป็นอาจารย์ นักแปล อดีตผู้อำนวยการศูนย์แปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าของรางวัลนักแปลดีเด่น รางวัลสุรินทราชา พ.ศ.2560 เล่าว่าเธอสนใจทำงานแปลตั้งแต่กลับจากเรียนที่ประเทศเยอรมนีเมื่อประมาณสี่สิบกว่าปีที่แล้ว ในช่วงเวลานั้นผู้สนใจทำงานแปลวรรณกรรมมีน้อยมาก อาจเป็นเพราะในแวดวงวิชาการสมัยนั้นไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของงานแปล แต่ก็เริ่มสนใจแปลงานวรรณกรรมเยอรมันอีกครั้งเมื่อคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี (นักเขียน กวี นักแปล นักวิจารณ์ บรรณาธิการ ผู้ก่อตั้งรางวัลช่อการะเกด ฯลฯ) ชักชวนให้แปลเรื่อง เมตามอร์โฟซิส ของ ฟรันซ์ คาฟคา ตั้งแต่นั้นมาก็ได้ทำงานแปลมาตลอด โดยเฉพาะผลงานคลาสสิก อย่าง โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ หรือฟรันซ์ คาฟคา ซึ่งเป็นนักเขียนคนโปรดของคุณถนอมนวล โดยยังมีโทมัส มันน์ (Thomas Mann) และ อิงเง่บอร์ก บัคมันน์ (Ingeborg Bachmann) อีกด้วย

 

และข้อเสนอแนะสำหรับผู้ที่สนใจการแปลวรรณกรรมจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยจากคุณถนอมนวลคือ

"ควรเพิ่มพูนทักษะภาษาต่างประเทศและทักษะภาษาไทยด้วยการอ่านอย่างสม่ำเสมอ อ่านตัวบทที่จะแปลอย่างละเอียด และรู้วิธีหาข้อมูลเสริมจากแหล่งต่างๆ ส่วนสำคัญคือความพร้อมของผู้แปล ซึ่งเป็นตัวกำหนดคุณภาพของงานแปลว่าต้องมีความรู้เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมของภาษาแม่และภาษาต่างประเทศเป็นอย่างดี มีความรู้รอบตัวกว้างขวางโดยเฉพาะเรื่องที่จะแปลนั้นต้องรู้อย่างละเอียด ต้องสามารถคิด วิเคราะห์และตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผลและถูกต้อง มีความตั้งใจจริง อดทน ยืดหยุ่น ทำงานตามลำพังได้เป็นเวลานาน และต้องไม่ลืมด้านจรรยาบรรณ คือการซื่อสัตย์ต่อต้นฉบับ ต่อผู้ประพันธ์ และผู้ว่าจ้าง รับผิดชอบงาน ไม่แสดงความคิดเห็นส่วนตัวลงไปในงานแปล และหลายคนมักลืม คือ ต้องเก็บความลับเรื่องที่ตนแปลและความลับของผู้ว่าจ้างด้วย"